บทบาทของการประมงต่อเศรษฐกิจ
และสังคมของไทย
การประมงเป็นอาชีพหลักที่สำคัญทางเศรษฐกิจสาขาหนึ่งของประเทศไทย มีการกำหนดแนวทางการพัฒนาไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทุกฉบับ ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีกิจกรรมทางด้านการประมงที่โดดเด่น โดยเฉพาะทางภาคใต้ ภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออกของประเทศ มีแนวชายฝั่งทะเลรวมทั้งประเทศยาวถึง3,534 กิโลเมตร จึงมีการทำการประมงทะเลอย่างกว้างขวาง คำว่า “การประมง” มีความหมายแปลตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ว่า “งานหรือการกระทำที่เกี่ยวข้องกับการจับสัตว์น้ำ ซึ่งประกอบด้วยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและการทำประมง” ส่วนในพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 มาตรา 4 วรรค 2 ให้ความหมายของคำว่า “ทำการประมง”หมายความว่า “จับ ดัก ล่อ ทำอันตราย ฆ่า หรือ เก็บ สัตว์น้ำ ในที่จับสัตว์น้ำด้วยเครื่องมือทำการประมงหรือด้วยวิธีการใด”ผลของการประมงนี้ มีเจตนาประสงค์ให้ได้มาซึ่งสัตว์น้ำนั่นเอง ดังนั้นการประมงตามความหมายในรายวิชานี้ จึงหมายรวมได้ถึงการจับสัตว์น้ำทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย น้ำเค็ม และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ผลผลิตสัตว์น้ำและมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ตลอดถึงธุรกิจที่ เกี่ยวเนื่องกับการประมงและสภาพสังคมที่เกี่ยวข้องกับสาขานี้ มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมของไทยที่นักศึกษา ควรจะทราบเป็นอย่างยิ่ง
ความสำคัญของการประมง
ประเทศไทยมีผลผลิตทางการประมงติดอันดับ 1 ใน 10 ของประเทศที่มีผลผลิตสัตว์น้ำสูงสุดในโลกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 ปัจจุบันปริมาณสัตว์น้ำรวมของไทยสูงถึงปีละ 3.7 ล้านตัน (ตารางที่ 1.1) โดยมีปริมาณสัตว์น้ำหลักมาจากสัตว์น้ำทะเลที่จับได้ในน่านน้ำไทย และน่านน้ำต่างประเทศ ผลผลิตสัตว์น้ำเหล่านี้มีบทบาทสำคัญทั้งด้านโภชนาการ การสร้าง รายได้ การจ้างงาน เป็นแหล่งเงินตราต่างประเทศ ลดการขาดดุลการค้า และสร้างการมี เสถียรภาพในสังคม
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-ShareAlike 4.0 International License.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น